เมื่อถึงวัยที่เราต้องมีบ้าน หรือคอนโด เป็นของตัวเอง การกู้เงินธนาคาร มาซื้อบ้าน ซื้อรถ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาให้ละเอียด ทั้งเงื่อนไข และเทคนิค เคล็ดลับการผ่อนบ้านอย่างไร ให้หมดเร็ว
โปะเพิ่ม 10% ทุกเดือน
การโปะเพิ่มเข้าไปอีก 10% ในยอดที่จ่ายทุกเดือน ทำให้เงินต้นในการกู้บ้านค่อย ๆ ลดลง แม้ไม่เร็วมาก แต่ในปีหนึ่ง จะทำให้ยอดเงินต้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จากปกติผ่อนบ้าน หรือคอนโด เดือนละ 20,000 บาท ให้จ่ายเพิ่มเข้าไปอีก 2,000 บาท รวมเป็น 22,000 บาท การโปะเพิ่มอีก 10% อย่างมีวินัยทุกเดือนแบบนี้ จะทำให้การผ่อน 30 ปี ลดลงมาเหลือแค่ 19-20 ปีเท่านั้น
ใช้เงินโบนัสให้เป็นประโยชน์
พนักงาน มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะได้รับโบนัสปลายปี มากน้อยแตกต่างกันไป เมื่อได้เงินมา ตอนปลายปี ให้จ่ายเพิ่มเข้าไปอีก 1 งวด จากปกติจ่ายปีละ 12 งวด ก็จ่ายเป็น 13 งวด แบบนี้จะทำให้เงินต้นลดลง แบ่งเบาภาระดอกเบี้ยในอนาคตด้วย วิธีนี้คล้ายวิธีโปะ 10% ทุกเดือน ก็จะทำให้การผ่อน 30 ปี ลดลงมาเหลือแค่ 19-20 ปี ได้เหมือนกัน ก็เลือกเอาแล้วแต่ว่าใครสะดวก และถนัดแบบไหน
สอบถามหน่วยงานที่ท่านทำงานอยู่
คนที่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานเอกชนบางที่ จะมีสหกรณ์ ของหน่วยงานตัวเอง เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มพนักงานด้วยกัน บ่อยครั้งสหกรณ์จะให้กู้เงินซื้อบ้านและที่พักอาศัย ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคาร ให้ลองติดตาม และสอบถามรายละเอียดให้ดีก่อน เพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการ เอาอาจจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ๆ ในการกู้กับสหกรณ์ของหน่วยงาน
3 ปีแรก ดอกเบี้ยต่ำ มีโอกาสก็รีบโปะ
3 ปีแรกของการผ่อน ดอกเบี้ยจะต่ำ บางธนาคารให้ดอกเบี้ย 0% ปีแรกก็มี ที่ผ่อนไปจะไปลดต้นทั้งหมด ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งก็แล้วแต่ธนาคาร แต่ช่วงเวลาดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก เป็นโอกาสที่ดีในการทำให้เงินต้นลดลงอย่างมาก อาจไม่เห็นผลอะไร เพราะเราก็จ่ายเท่ากันทุกเดือน เพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่ให้ดูตัวเลขในบัญชีเงินกู้ ที่ค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ ถ้าเป็นไปได้ ให้ลองทำตาราง Excel ดูว่าการที่เราโปะเพิ่มไปเท่านี้ จะทำให้อนาคตเราประหยัดเงินลงได้เท่าไหร่ แบบนี้ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น
รีไฟแนนซ์ ย้ายไปผ่อนธนาคารอื่น
ตามปกติการกู้บ้าน ทางธนาคารจะกำหนดว่า ต้องผ่อนอย่างต่ำ 3 ปี แล้วจะสามารถรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่นได้ เรารีไฟแนนซ์เพื่อที่จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โปรโมชั่นที่ดีกว่า อาจจะมีขั้นตอน มีการทำเอกสารวุ่นวายนิดหน่อย แต่ในระยะยาว ถ้าเราขยันหาโปรโมชั่น หาธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำ ๆ เราจะสามารถประหยัดเงินไปได้เยอะ ก่อนรีไฟแนนซ์เราควรเจรจากับธนาคารเดิมก่อน ว่าจะสามารถลดดอกเบี้ยให้เราได้หรือไม่ เหมือนการขอโปรย้ายค่ายจากค่ายเดิม ถ้าเจรจาสำเร็จ เราก็ไม่ต้องวุ่ยวายทำเอกสาร แค่แก้สัญญานิดหน่อย
ต้องปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน
การที่เราผ่อนบ้าน หรือคอนโด ทำให้เราต้องเสียเงินส่วนหนึ่งไปทุกเดือน 10,000 – 20,000 บ้าน แปลว่าได้เงินเดือน หรือรายได้มา เราต้องหักส่วนนี้ไปก่อนเพื่อใช้หนี้บ้าน จะซื้อของที่ต้องการทุกอย่างเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว และการสร้างหนี้เพิ่มซื้ออย่างอื่นอีก อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะจะทำให้เราเหนื่อยมากขึ้น เครียดมากขึ้น ค่าบ้านก็เป็นจำนวนพอสมควรอยู่แล้วในแต่ละเดือน ถ้าผ่อนสินค้าอย่างอื่นทางบัตรเครดิตเพิ่มอีก แต่ละเดือนก็อาจไม่เหลือเงินให้ใช้เลยก็ได้ และยังต้องกันเงินไว้ใช้ตอนฉุกเฉินอีก
โปะบ้านด้วยความระมัดระวัง
การผ่อนบ้าน เป็นเหมือนเกมระยะยาว ที่เราต้องยืนระยะให้ได้ บางช่วงเราอาจจะมีเงินใช้คล่องมือ บางช่วงก็ขัดสน ถ้าเราโฟกัสการผ่อนบ้านมากจนเกินไป อาจทำให้เราไม่มีเงินเหลือสำรอง และอาจจะลำบากในช่วงที่เราขัดสนได้ วิธีที่แนะนำที่สุดคือ ผ่อนเพิ่มเดือนละ 10% หรือไม่ก็ผ่อนปีละ 13 งวด ก็ทำให้ผ่อนหมดเร็วขึ้น และประหยัดเงินขึ้นเยอะแล้ว ถ้าจ่ายเพิ่มมากกว่านั้นแล้วทำให้ตัวเราเองและครอบครัวลำบากในเรื่องการเงิน ก็คงต้องพิจารณาให้ดี ๆ ก่อน จ่ายขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดไปก่อนทุกเดือนดีกว่า
เนื้อหาพิเศษ
คำศัพท์ที่มักจะใช้ผิด: คนชอบใช้คำว่า โป๊ะ แทนคำว่า โปะ ซึ่งที่จริงแล้วคำว่าโป๊ะ นั่นผิด ต้องใช้คำว่า โปะ คำว่า “โปะ” เป็นกริยา เหมือนเป็นการใส่เพิ่มเข้าไป ทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “โป๊ะ” หมายถึงโป๊ะเรือ ทุ่นที่เราเอาไว้ใช้ลงเรือ ส่วนคำว่า “โป๊ะแตก” ที่นิยมใช้กัน ก็ประมาณว่า ท่าเรือแตก ต้องตกน้ำ หนีกันชุลมุน