ประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) คืออะไร แบบง่าย ๆ
ประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) คืออะไร อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ คนที่ผลิตของจำนวนเยอะ ๆ ก็จะได้เปรียบคนที่ผลิตน้อย ๆ โดยอาจจะได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกกว่า เครื่องจักรเครื่องใหญ่กว่า ใช้เวลาผลิตน้อยกว่า ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า เมื่อเทียบกับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่เท่า ๆ กัน เช่น บริษัท A ผลิตเบียร์ปีละ 1 ล้านขวด ก็จะมีต้นทุนต่อขวด ต่ำกว่าบริษัท B ที่ผลิตเบียร์ปีละ 10,000 ขวด เพราะเหตุผลด้านเครื่องจักร และราคาวัตถุดิบ ที่ซื้อมาในจำนวนที่ต่างกัน เหมือนซื้อเยอะ แล้วได้ราคาถูกลง อะไรประมาณนั้น
การประหยัดจากขนาด ก็มีอยู่ในชีวิตประจำ เช่นซื้อของยกโหล ก็จะได้ราคาต่อชิ้นที่ถูกกว่า นี่เป็นความได้เปรียบของคนที่มีเงินเยอะกว่า คนที่มีเงินเยอะแบบเหลือ ๆ ก็จะสามารถซื้อทิชชู่ แพค 6 ม้วน ในราคา 50 บาท แต่คนที่อาจจะมีเงินไม่เยอะ ต้องซื้อทิชชู่ม้วนละ 10 บาท (ราคาสมมติ) อย่างนี้เป็นต้น
ในชีวิตประจำวัน การประหยัดจากขนาด ก็ทำให้สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำออกมาได้แบบหนึ่ง ในอุตสาหกรรม หรือในโลกธุรกิจ ก็สะท้อนความได้เปรียบของบริษัทที่ใหญ่ ๆ มีต้นทุนที่มากกว่า จะสามารถผลิตสินค้า หรือบริการได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า รายเล็ก หรือ SME ต้องดิ้นรนสู้กับรายใหญ่ รายใหญ่อาจจะลดราคามาสู้ระยะหนึ่ง จนรายเล็กเจ๊งไปเลยก็ได้ แม้ใครบอกว่า สงครามราคา สุดท้ายก็ตายกันหมด แต่สำหรับเจ้าใหญ่ อาจจะสบาย ๆ ไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้
แต่โลกทุนนิยมมันก็โหดร้ายแบบนี้แหละ ทุกคนต้องพยายาม และดิ้นรนเอาตัวรอด